วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตอนที่ 1.2 ประเภทของศัตรูพืช

การแบ่งประเภทของศัตรูพืช สามารถแบ่งได้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้
ศรีรัตน์ วงศ์สิริ และคณะ (2542: 302) ได้แบ่งประเภทของศัตรูพืชเป็น 3 ชนิด คือ
1. พวกที่มองเห็น ได้แก่ แมลงและสัตว์บางชนิด เช่น ตั๊กแตนปาทังกา เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง ด้วงแรด ปู ทาก เป็นต้น
2. พวกที่มองไม่เห็น ได้แก่ จุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ เช่น เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย เป็นต้น
3. วัชพืช คือพืชที่เป็นโทษแก่พืชที่ปลูกไว้ เช่น สาหร่ายไฟ หญ้าข้าวป่า หญ้าแห้วหมู หญ้าขจรจบ เป็นต้น
ศรีลักษณ์ ผลวัฒนะ และคณะ (2545: 106 - 107) ได้แบ่งประเภทของศัตรูพืชเป็น 4 กลุ่ม คือ
1. วัชพืช หมายถึง พืชที่ไม่ต้องการให้ขึ้นในแปลงปลูก และมีคุณลักษณะที่มีผล
ทำให้มีอัตราการอยู่รอดสูง เช่น สามารถผลิตเมล็ดได้เป็นจำนวนมาก แพร่พันธุ์ได้เร็ว
2. โรคพืช หมายถึง สิ่งที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติในพืชทั้งด้านรูปร่างลักษณะ และกระบวนการในการดำรงชีวิตของผลผลิต
2.1 สาเหตุของโรคพืช
1) สิ่งไม่มีชีวิต เช่น ดินไม่เหมาะสม ขาดธาตุอาหารในดิน
สภาพภูมิอากาศไม่เหมาะสม สารเคมีเป็นพิษ และโรคพันธุกรรม
2) สิ่งมีชีวิต เช่น แบคทีเรีย รา ไวรัส และไส้เดือนฝอย
2.2 ตัวอย่างโรคพืช
1) โรคไส้กลวงดำของผักกาดหัว สาเหตุจากการขาดธาตุโบรอน
2) โรคหูดของมะนาว สาเหตุจาดเชื้อแบคทีเรีย
3) โรคใบจุดสีน้ำตาลของผักบุ้ง สาเหตุจากเชื้อรา
3. แมลงศัตรูพืช ซึ่งอาจมีอยู่แล้วในประเทศ และอาจมาจากต่างประเทศ โดยมาเองหรือมนุษย์เป็นผู้นำเข้ามา แมลงเหล่านี้จะทำลายพืชได้หลายแบบ เช่น ใช้ปากกัดกิน ใช้ปากเขี่ยดูด
แมลงศัตรูพืชแบ่งชนิดของแมลงตามลักษณะการทำลายพืชนั้นแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
3.1 แมลงที่ทำลายพืชด้วยการกัดกินพืชผัก ได้แก่ แมลงพวกตั๊กแตน หนอน ด้วง แมลงเหล่านี้จะกัดแทะใบ ราก ผลของพืชผัก
3.2 แมลงที่ทำลายพืชด้วยการดูดน้ำเลี้ยงจากพืช ได้แก่ มวน เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน ไร เป็นต้น แมลงเหล่านี้มักจะมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก จะดูดน้ำเลี้ยงจากต้นพืช โดยเฉพาะต้นอ่อน ทำให้พืชมีอาการคล้ายโรค
4. สัตว์ศัตรูพืช หมายถึง สัตว์อื่นที่นอกเหนือจากแมลงซึ่งทำอันตรายหรือทำ ความเสียหายให้แก่พืชที่ปลูก ได้แก่ หนู ปูนา หอยทากยักษ์ นก ค้างคาว
บุญสนอง พึ่งสุข (2547: 202 - 203) ได้แบ่งประเภทของศัตรูพืชเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. สัตว์ ได้แก่ แมลงและสัตว์บางชนิด เช่น ตั๊กแตนปาทังกา เพลี้ย นก หนู ปู หอยทากยักษ์อาฟริกา หนอนกระทู้กล้า แมลงบัว แมลงสิง หนอนกระทู้ คอรวง ฯลฯ
สัตว์ที่ทำความเสียหายให้แก่พันธุ์พืชทางเกษตร ได้แก่
- ตั๊กแตนปาทังกา ทำลายข้าวโพด
- ไส้เดือนฝอย (nematodes) อาศัยอยู่ในรากพืช ทำให้เกิดโรครากปมของพืช
- หอยทากยักษ์อาฟริกา กัดกินส่วนต่าง ๆ ของพืช
- หนู กัดต้นข้าวและทำลายรวงข้าง
- เพลี้ย ดูดน้ำเลี้ยงจากพืช
- นกและค้างคาว เจาะและจิกกินผลไม้ในสวน
2. จุลินทรีย์ ได้แก่ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ได้แก่ เชื้อรา ไวรัส และแบคทีเรีย
จุลินทรีย์ที่ทำให้พืชเกิดโรค เช่น
2.1 แบคทีเรีย ทำให้เกิดโรคเน่าของพืชผัก โรคแคงเก้อร์ของพืชตระกูลส้ม
2.2 เชื้อรา ทำให้เกิดโรคไหม้ ใบเน่า ยอดหยิกงอ โรครากผุของต้นยาง
โรคราน้ำค้างขององุ่น
2.3 ไวรัส ทำให้เกิดโรคใบหงิกของพริก โรคใบด่างของยาสูบ
3. วัชพืช ได้แก่ พืชที่เจริญเติบโตในพื้นที่เพาะปลูกแต่เราไม่ต้องการ วัชพืชมักเติบโตเร็วและทนทานกว่าพืชที่ปลูกไว้ เช่น สาหร่ายไฟ หญ้าคา หญ้าขจรจบ หญ้าแห้วหมู ฯลฯ
วัชพืชเป็นโทษแก่พืชที่ปลูกไว้ เพราะคอยแย่งอาหาร น้ำ และแสงสว่าง ทำให้พืชที่ปลูกไว้ไม่เจริญเติบโต ให้ผลิตผลน้อยลง วัชพืชที่ติดมากับอาหารสัตว์ จะทำให้อาหารสัตว์นั้นมีประโยชน์น้อยลง อันเป็นเหตุให้สัตว์ให้เนื้อ นม ไข่ ได้น้อยลง ยิ่งกว่านั้น วัชพืชบางชนิดยังเป็นพิษร้ายแรง ที่อาจทำให้สัตว์ที่กินวัชพืชเข้าไปเป็นอันตรายถึงตายได้
คำว่าวัชพืช มาจาก วัช หรือวัชชะ แปลว่า “สิ่งที่ควรละทิ้ง” ซึ่งรวมกับคำว่า พืช เป็นวัชพืช จึงมีความหมายว่า “พืชที่ควรละทิ้ง” วัชพืชแบ่งตามลักษณะที่อยู่เป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ
3.1 วัชพืชน้ำ หมายถึง วัชพืชที่ขึ้นในน้ำหรือขึ้นตามริมตลิ่งที่มีดินชื้นมาก ๆ มักเป็นพืชที่มีลำต้นเล็ก อ่อน ใบบาง เพื่อลู่ไปตามกระแสน้ำได้ดี มีหลายลักษณะตามสภาพที่ขึ้น ดังนี้
3.1.1 พวกลอยน้ำรากไม่หยั่งดิน เช่น จอก แหน ไข่น้ำ แหนแดง ผักตบชวา
3.1.2 พวกรากหยั่งดิน ใบและดอกลอยตามผิวน้ำหรืออยู่เหนือน้ำ เช่น บัว ตับเต่า ขาเขียด
3.1.3 พวกอยู่ใต้ผิวน้ำรากหยั่งดิน เช่น สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายไฟ
แหนปากเป็ด สาหร่ายเส้นด้าย สาหร่ายพุ่งชะโด
3.1.4 พวกขึ้นตามดินชื้นมากๆ หรือที่ที่มีน้ำขังตื้น ๆ เช่น เทียนนา แห้วทรงกระเทียม หญ้าขน หญ้านกสีชมพู
3.2 วัชพืชบก หมายถึง วัชพืชที่เกิดบนบกแบ่งตามลักษณะทั่วไปได้ 3 ชนิด คือ ไม้ต้น (trees) ไม้พุ่ม (shrubs) และไม้ล้มลุกลำต้นอ่อน (herbs)
ไม้ล้มลุกลำต้นอ่อนแบ่งตามอายุได้ 2 พวก ได้แก่ พืชล้มลุก อายุสั้น มีวงชีพอยู่ได้เพียงฤดูเดียว (annual) และอีกพวกหนึ่งเป็นพืชต้นเล็กเนื้ออ่อน ยืนต้น มีอายุข้ามปีหรือ 2 ปีขึ้นไป (perennial) พวกนี้มักจะมีไหล (stolon)ซึ่งสามารถแตกรากตามข้อที่นอนแตะพื้นดิน เช่น แห้วหมู หญ้าชันอากาศ หญ้าขจรจบ เป็นวัชพืชที่ให้โทษร้ายแรงในไร่ข้าวโพด ขณะต้นยังอ่อน ไม่มีดอก ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ เมื่อต้นแก่แห้งแล้วใช้ทำเยื่อกระดาษได้ดี
วัชพืชบางชนิดให้ประโยชน์ เช่น หญ้าขนมเทียน ขึ้นตามไร่พริกแถวราชบุรี เมื่อใกล้ตรุษจีน หญ้าขนมเทียนจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 50 บาท (พ.ศ.2520) หญ้าชนิดนี้ นำมาตำคั้นเอาน้ำผสมแป้ง ทำให้ขนมไม่ติดใบตอง
วัชพืชสามารถกระจายพันธุ์ได้โดย เมล็ดวัชพืชปนมากับเมล็ดพืชที่ปลูก เมล็ดปลิวตามลม ลอยมากับกระแสน้ำ ติดมากับตัวสัตว์ พวกนก แมลง ติดมากับเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับทำการเพาะปลูก หรือดิน
การกำจัดวัชพืช ควรถอนทิ้งเสียตั้งแต่ต้นยังอ่อนอยู่ ยังไม่มีเมล็ด จะช่วยลด
การกระจายพันธุ์ของวัชพืชลงได้
วัชพืชเป็นพืชที่ไม่ต้องการและขึ้นปะปนกับพืชปลูก นอกจากจะเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลเสียหาต่อเกษตรกรรมแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ซึ่งโทษหรือผลเสียดังกล่าวสามารถจำแนกออกได้อย่างกว้าง ๆ เป็น 2 ประการ คือ
ก. ผลเสียต่อเกษตรกรรม วัชพืชก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพต่อผลิตผลของพืชปลูกและสัตว์เลี้ยง
1. ผลเสียต่อพืชปลูก โดยการลดปริมาณผลผลิต ลดคุณภาพของผลผลิต และ เพิ่มการระบาดของแมลงและโรค
2. ผลเสียต่อสัตว์เลี้ยง โดยการลดปริมาณและคุณภาพสัตว์
ข. ผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมละสาธารณสุข วัชพืชก่อให้เกิดความเสียหายต่อถนน ทางรถไฟ ในขณะเดียวกันวัชพืชน้ำก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการคมนาคมทางน้ำและชลประทาน ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ ฯลฯ เกิดการตื้นเขินและเกิดความเสื่อมโทรมต่อแหล่งท่องเทียว นอกจากนี้วัชพืชยังมีผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์ โดยเฉพาะทำให้เกิด การระคายเคือง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากละอองเกสรหรือขนของวัชพืช
สรุปได้ว่า ศัตรูพืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่รบกวนและทำลายพืชให้ได้รับความเสียหาย และ ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรมีปริมาณลดลงและมีคุณภาพต่ำลงหรือไม่มีคุณภาพ ศัตรูพืชแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. สัตว์ ได้แก่ แมลงและสัตว์บางชนิดที่มองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น ค้างคาวตั๊กแตนปาทังกา เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง ด้วงแรด ปู ทาก นก ไส้เดือนฝอย หนู หอยเชอรี่ เป็นต้น
2. จุลินทรีย์ ได้แก่ สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เช่น เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ในพืชดังนี้
2.1 เชื้อรา ทำให้เกิดโรคไหม้ ใบเน่า ยอดหยิกงอ โรครากผุของต้นยาง
โรคราน้ำค้างขององุ่น โรคใบจุดสีน้ำตาลของข้าว โรคดอกกระถินของข้าว โรคราน้ำค้างของข้าวโพด เป็นต้น
2.2 ไวรัส ทำให้เกิดโรคใบหยิกงอของพริก โรคใบด่างของยาสูบ โรคใบสีส้มของข้าว โรคใบสีแสดของข้าว โรคเหลืองเตี้ยของข้าว โรคเขียวเตี้ยของข้าว เป็นต้น
2.3 แบคทีเรีย ทำให้เกิดโรคเน่าของพืชผัก โรคแคงเก้อร์ของพืชตระกูลส้ม
โรคขอบใบแห้งของข้าว เป็น
3. วัชพืช คือพืชที่เป็นโทษแก่พืชที่เราปลูกไว้ เช่น สาหร่ายไฟ หญ้าข้าวป่า หญ้าแห้วหมู หญ้าขจรจบ ผักตบชวา จอก แหน อ้อ กก เป็นต้น

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

เป็นบล็อกที่ดีมาก ช่วยผมทำห.บ. สบายใจเลย

innseethong กล่าวว่า...

ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ครับ ผมกำลังศึกษาเรื่องแมลงศัตรูพืชอยู่ครับ
https://www.youtube.com/watch?v=eoFPKALY4AM