วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตอนที่ 2.4 การปฐมพยาบาลขั้นต้นสำหรับผู้ได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดแมลง

เมื่อได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดแมลงควรปฐมพยาบาลขั้นต้น ดังนี้
1. เมื่อได้รับพิษทางปาก ควรทำให้อาเจียน โดยดื่มน้ำสะอาดแล้วล้วงคอ ห้ามทำให้อาเจียนในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติและไม่รู้สึกตัว หรือสงสัยว่าได้รับสารพิษที่เป็นกรดหรือเบสเข้มข้น (สังเกตจากปากและลำคอว่ามีรอยไหม้) จากนั้นต้องลดการดูดซึมของสารพิษในทางเดิน อาหาร โดยรับประทานไข่ขาวดิบ รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อให้แพทย์ล้างท้อง
2. เมื่อได้รับสารพิษจากการสูดดม ให้นำผู้ป่วยไปยังบริเวณที่อากาศถ่ายเท คลายเสื้อผ้าให้หลวม พยายามควบคุมอุณหภูมิของร่างกายผู้ป่วย เช่น ถ้าผู้ป่วยรู้สึกร้อนให้เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ถ้าผู้ป่วยรู้สึกหนาวให้ห่มผ้า
3. เมื่อได้รับสารพิษทางผิวหนัง ให้ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้นด้วยน้ำสบู่ จนอาการระคายเคืองทุเลา หากไม่ทุเลาให้รีบไปพบแพทย์
4. เมื่อได้รับสารพิษทางตา ให้ทำการล้างด้วยน้ำสะอาดเท่านั้น (ห้ามใช้น้ำยาล้างตา) แล้วรีบไปพบแพทย์
การปฐมพยาบาลขั้นต้นสำหรับผู้ได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดแมลง ต้องพิจารณาว่าสารเคมีเข้าสู่ร่างกายทางใด ปาก จมูก ผิวหนัง หรือทางตา แล้วปฐมพยาบาลเพื่อลดอันตรายที่จะเกิดจากสารเคมี แล้วนำส่งแพทย์ทันที

การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยขาดความรู้หรือปราศจากการควบคุมในวิธีการใช้ที่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่ง เพราะสารมีพิษเหล่านี้จะตกค้างสะสมอยู่ในผลผลิตทางการเกษตร ในดิน น้ำ และอากาศ แล้วแพร่เข้าสู่สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
การใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชมีหลายชนิด เช่น สารฆ่าแมลง สารปราบวัชพืช สารกำจัดเชื้อรา สารกำจัดสาหร่าย ซึ่งแต่ละชนิดแตกต่างกันในด้านการกำจัดศัตรูพืช การออกฤทธิ์ ระยะเวลาในการสลายตัว ถ้าใช้สารเคมีในปริมาณมากและใช้อย่างต่อเนื่อง จะมีผลให้สะสมในพืช ศัตรูพืช และสิ่งแวดล้อม สารเคมีเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์และสัตว์ได้ทางการหายใจ ทางผิวหนัง และทางการรับประทาน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นผู้ใช้สารเคมีเหล่านี้ จะต้องใช้อย่างถูกวิธีและถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อตนเอง ผู้อื่น สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม

ไม่มีความคิดเห็น: