วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ศึกษาบทความ 2 เรื่อง

เรื่องที่ 1 เก็บดาวในสวนดอกไม้
เก็บดาวที่ว่านี้หมายถึงดอกดาวเรือง ที่เรามักพบเห็นในพวงมาลัยสำหรับไหว้พระ หรือพวงมาลัยคล้องคอบรรดานักการเมืองในช่วงเทศกาลหาเสียง ช่วงต้นฤดูหนาวฉันมีโอกาสไปเที่ยวเล่นบริเวณชายแดนไทย-พม่าแถบอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ขณะที่อยู่บนรถเพื่อนคนหนึ่งชี้ชวนให้ดูภาพคนกว่าสิบคนอยู่ในแปลงอกไม้สีเหลืองอร่ามสองข้างถนนพร้อมบอกว่า
“เขากำลังเก็บดาวกัน”
ในใจฉันนึกอยากมีโอกาสลงไปสัมผัสสวนดอกดาวเรืองอย่างใกล้ชิดบ้าง และแล้ว
ความปรารถนานั้นก็สมหวัง เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปในสวนเกษตรแห่งหนึ่งซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของอำเภอพบพระ สวนเกษตรแห่งนี้มีชื่อเสียงในเรื่องการปลูกทับทิม น้อยหน่าและผลไม้อีกหลายชนิด เนื่องจากพื้นที่ของสวนแห่งนี้มีนับพันไร่ เจ้าของสวนจึงไม่ได้ปลูกเฉพาะไม้ผลเท่านั้น แต่ยังมีแปลงกุหลาบและดอกดาวเรืองปะปนไปด้วย
ช่วงสายของวันนั้น แม้จะอยู่ท่ามกลางแสงแดดจ้าแต่ลมเย็นที่พัดโชยอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับฉากเบื้องหน้าที่เหลืองอร่ามสวยงามโดยมีฉากหลังเป็นทิวเขาเรียงราย ทำให้บรรยากาศยามนั้นอาจนับว่าแช่งชื่นได้ไม่น้อย ฉันเดินเข้าไปในแปลงดอกดาวเรืองพบหญิงชายหลายหลายวัยกว่า 20 คนแต่งกายในชุดทะมัดทะแมง สวมเสื้อแขนยาวกางเกงขายาว
รองเท้าบูท สวมถุงมือและใสหมวกปีกกว้าง อุปกรณ์ในการทำงานได้แก่ กรรไกรอันเล็กพร้อมตะกร้าสะพายไว้ข้างตัว พวกเขากำลังตัดดอกดาวเรืองที่ปลูกเรียงเป็นทิวแถว
เสียงพูดคุยค่อย ๆ เงียบลงเมื่อมีคนแปลกหน้าบุกรุกเข้าไปในแปลงดอกไม้ ยกเว้นเสียงร้องเพลงอย่างเบิกบานของหญิงคนหนึ่งที่หันหลังให้ เธอยังร้องเพลงต่อไปอย่างไม่รู้ตัว แรงงานหญิงชายทั้งหมดนี้พูดภาษาไทยได้ไม่ดีนัก ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เดินทางมาจากประเทศพม่า
เมื่อฉันแนะนำชื่อตัวเองกับหญิงสาวที่กำลังเก็บดาวและถามชื่อเธอบ้าง ได้ความว่า
เธอชื่อ “มิหม่น” อายุ 15 ปี เธอทำงานที่สวนเกษตรแห่งนี้ราว 5 เดือน มิหม่นจับคู่เก็บดาวกับเพื่อนอีกคนหนึ่งชื่อ “มิอู” มิอูแก่กว่ามิหม่นสองปี มิอูมาทำงานที่สวนแห่งนี้จาก
การชักชวนของพี่สาว ฉันเดาว่ามิหม่นน่าจะรู้สึกอบอุ่นมากกว่าแม้จะอยู่ต่างบ้านต่างเมืองเพราะทั้งพ่อและแม่ของเธอทำงานในสวนเกษตรแห่งนี้ ในวันนั้นพ่อของมิหม่นกำลังไปรดน้ำต้นทับทิม ส่วนเธอและแม่มาช่วยกันเก็บดอกดาวเรือง เราสื่อสารกันด้วยคำพูดได้ไม่มากนักต่างฝ่ายต่างพูดภาษาของกันและกันไม่ได้ แต่ก็ส่งยิ้มและใช้วิธีสื่อสารอื่น ๆ แทน ทำให้ฉันเดินเล่นในแปลงดอกดาวเรืองได้นานนับชั่วโมงจนกระทั่งใกล้เที่ยงของวัน แต่ละคนนำดอกดาวเรืองในตะกร้าสะพายมาเทลงตะกร้าใบใหญ่และบรรทุกใส่รถมายังสำนักงานของสวนเกษตร ดอกดาวเรืองนับพัน ๆ ดอกถูกนำมาเทในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ในที่ร่ม เพิ่งจะตอนนี้เองที่คนจำพวกความรู้สึกข้ออย่างฉันออกอาการคล้ายจะเป็นลม กลิ่นสารเคมีตลบอบอวลไปทั่วทั้งบริเวณ อันที่จริงเพื่อนร่วมทางของฉันทำท่าไม่อยากหายใจตั้งแต่อยู่กลางสวนดอกไม้ ระหว่างนั้นบรรดาแรงงานหญิงชายแยกย้ายกันกลับไปที่พักซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากสำนักงาน
ฉันชวนเจ้าของสวนเกษตรพูดคุยถึงการปลูกดอกดาวเรืองได้ความว่า การปลูกดอกดาวเรืองต้องใช้ระยะเวลานาน 90 วันจึงตัดดอกไปขายได้ และในรอบการผลิตหนึ่ง ๆ ต้องฉีดพ่นสารเคมีประมาณ 7 ครั้ง ดอกดาวเรืองจะมีการคัดแยกขนาดแบ่งเป็นเกรดและบรรจุใส่ถุงส่งขายไปยังปากคลองตลาด เช่นเดียวกับดอกกุหลาบซึ่งเป็นไม้ดอกส่งออกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของอำเภอพบพระ ด้วยความที่ตกอกตกใจกับกลิ่นสารเคมี จึงอดถามเจ้าของสวนเกษตรซึ่งเป็นหญิงที่กำลังตั้งครรภ์เธอบอกว่า คงจะชินกับกลิ่นของสารเคมีเหล่านี้ เธอและครอบครัวตั้งบ้านเรือนเป็น
การถาวรอยู่ในสวนเกษตรแห่งนี้มานานนับสิบปีก็ไม่เกิดปัญหาต่อสุขภาพแต่อย่างใด เธอยังให้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า การทำสวนดอกไม้อย่างแปลงกุหลาบต้องใช้สารเคมีไม่แตกต่างกันฉันได้สืบค้นตัวเลขพื้นที่ถือครองการเกษตรในเขตอำเภอพบพระ ดูแล้วน่าตกใจเอาการทีเดียว ปัจจุบันอำเภอพบพระมีพื้นที่ปลูกดอกไม้จำนวนถึง 8,255 ไร่ ซึ่งไม้ดอกในที่นี้ได้แก่ กุหลาบ และดอกดาวเรืองเป็นส่วนใหญ่ หลังจากทำท่าเป็นนางเอกเก็บดาวในสวนดอกไม้แห่งนี้แล้ว ทำให้นึกถึงดอกอื่น ๆ อีกสารพัดดอกที่วางขายในตลาดดอกไม้ ชาวม้งที่มีประสบการณ์ในการปลูกดอกเบญจมาศบนดอยอินทนนท์เคยให้ความเห็นว่า
“เรื่องของการใช้สารเคมีอาจคล้ายกับโรคเอดส์คือไม่ได้ตายทันที ไม่เห็นใครใช้แล้วตายคาที่สักคน” ชาวม้งผู้นี้ยังบอกว่าปัจจุบันสมาชิกในชุมชนของเขามีโรคมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้มาจากไหน แต่หลายคนเชื่อว่ามาจากสารเคมีที่ใช้กันอยู่
พิษภัยจากสารเคมีไม่เพียงไม่แสดงผลในทันทีทันใดเท่านั้น เพื่อนคนหนึ่งยังเพิ่มเติมด้วยว่า การนำเสนอภาพลักษณ์ของสารเคมีจากบริษัทผู้ผลิต บ่อยครั้งสารเคมียังถูกทำให้กลายเป็นมิตรในชีวิตประจำวันไปโดยปริยาย ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง ? นอกจากถอนหายใจ ???
ที่มา : จิรดา กุลประเสริฐ. (2549,ปีที่ 14 ฉบับที่ 6 มกราคม- กุมภาพันธ์).มานุษยนิเวศ. นิตยสารโลกสีเขียว, หน้า 33 - 34

เรื่องที่ 2 มาควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยจุลินทรีย์กันดีกว่า
เป็นที่ทราบกันดีว่าการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ เพื่อการค้าในปัจจุบันนี้นั้น มีการใช้สารเคมีเพื่อการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชกันอย่างมากมาย และนับวันจะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากการที่แมลงหลายชนิดมีการสร้างภูมิต้านทาน (ดื้อยา) ทำให้เพิ่มอัตราการใช้หรือผสมสารเคมีหลายตัวขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น การระบาดของแมลงศัตรูพืชบางชนิดมากขึ้น (เนื่องจากแมลงที่มีประโยชน์ถูกทำลายไปด้วย) มีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมและผลผลิต
การมีสารพิษตกค้างอยู่ในผลผลิตไม่ว่าจะเป็นพืชผัก ผลไม้ เมื่อเราบริโภคพืชผัก ผลไม้เหล่านั้น ก็จะรับเอาสารพิษเหล่านั้นเข้าไปสะสมไว้ในร่างกายจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพ
ในที่สุด ในปัจจุบันมีการตื่นตัวกันในเรื่องสารพิษตกค้างในอาหารกันมากขึ้น มีการรณรงค์กันไปหลาย ๆ รูปแบบ เช่น การแนะนำให้ปลุกหรือบริโภคผักปลอดสารพิษ ในส่วนราชการเองก็จะได้มีการประกาศห้ามใช้ห้ามซื้อขายสารเคมีหลาย ๆ ตัว เช่น เมวินฟอส โมโนโครโตฟอส ในอนาคตอันใกล้นี้
เชื้อจุลินทรีย์ Bacillus thuringensis (Bt) เป็นจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้ายหรือแมลงในอันดับ Lepidoptera, Coleoptera และ Diptera สามารถพ่นบนต้นพืชได้จนถึงวันเก็บเกี่ยวโดยไม่มีพิษตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
เชื้อแบคทีเรียจะสร้างสารพิษที่เรียกว่า เดลต้าแอนโดท็อกซิน (Delta - endotoxin )
เมื่อหนอนกินเชื้อแบคทีเรียเข้าไป สารพิษนี้จะทำลายระบบย่อยอาหาร หนอนจะหยุดกินอาหารและเคลื่อนไหวช้าลงในที่สุดจะตายภายใน 1 – 2 วัน
วิธีใช้ การกำจัดแมลงจะได้ผลดี ต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน การใช้น้ำเล็กน้อย (ประมาณ 1 ลิตร) ผสมแบคทีเรียให้เข้ากัน ก่อนที่จะนำไปผสมน้ำ
ทำการฉีดพ่นให้ทั่วต้นพืชทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ควรเลือกฉีดพ่นในเวลาเย็นเพื่อหลีกเลี่ยง
ความร้อนจากแสงแดด ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของแบคทีเรียลดลง

แสดงข้อแตกต่างระหว่าง Bt และสารเคมี

สารเคมี
1. ออกฤทธิ์เมื่อถูกตัว และกินตาย
2. ทำลายแมลงกว้างขวาง รวมทั้งแมลงที่มี ประโยชน์ เช่น ผึ้ง แมลงห้ำ แมลงเบียน
3. เป็นอันตรายต่อคน สัตว์เลือดอุ่น ปลา
4. มีพิษตกค้างในสภาพแวดล้อม
5. แมลงสร้างภูมิต้านทานได้เร็ว
Bt
1. กินตาย
2. มีความเฉพาะเจาะจงในการทำลายแมลง ไม่ทำลายแมลงมีประโยชน์
3. ไม่อันตรายต่อคน สัตว์เลือดอุ่น ปลา
4. ไม่มีพิษตกค้างในสภาพแวดล้อม
5. แมลงสร้างภูมิต้านทานได้ช้า

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่า Bt มีข้อดีกว่าสารเคมีทั่วไปหลายประการ แต่อย่างไรก็ตามในแง่การนำไปใช้ยังมีจำนวนเพียง 2.5 % ของมูลค่าการนำเข้าสารกำจัดแมลงทั้งปีทั้ง ๆ ที่ Bt มีการนำเข้ามาใช้ในตลาดสารกำจัดแมลงทางเกษตรมากกว่า 30 ปีแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกรบ้านเรา ยังติดกับสารเคมีชนิดที่ฉีดพ่นแล้วตายทันใจอยู่มาก แต่หากเราพิจารณาในแง่ความปลอดภัย ทั้งในขณะใช้โดยตรง และพิษตกค้าง ในพืชและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็น่าจะหันมาส่งเสริมการใช้ Bt ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชจะดีกว่า
ที่มา : (2542, วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม).มาควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยจุลินทรีย์กันดีกว่า. เดลินิวส์, หน้า 10
จากการศึกษาเรื่อง เก็บดาวในสวนดอกไม้ และ มาควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยจุลินทรีย์กันดีกว่า จงวิเคราะห์ปัญหาต่อไปนี้
1. สารเคมีมีผลต่อสุขภาพหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือไม่ อย่างไร
2. คำกล่าวที่ว่า “เรื่องของการใช้สารเคมีอาจจะคล้ายกับโรคเอดส์คือไม่ได้ตายทันที ไม่เห็นใครใช้แล้วตายคาที่สักคน” นักเรียนมีความเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
3. จุลินทรีย์ Bt สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้อย่างไร
4. นักเรียนเห็นด้วยหรือไม่ที่เกษตรกรจะนำจุลินทรีย์ Bt มาใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช เพราะเหตุใด

ไม่มีความคิดเห็น: