วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้สารเคมี

สารเคมีที่ใช้และพบเห็นในชีวิตประจำวัน ได้แก่ สารเคมีทางการเกษตร สารเคมี ในเชื้อเพลิง ยาและเครื่องสำอาง สารเคมีในมลภาวะต่าง ๆ สารเคมีในอาหาร สารเคมีแต่ละชนิดมีประโยชน์หากนำมาใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม แต่ถ้านำมาใช้โดยไม่ระมัดระวัง หรือนำมาใช้โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ สารเคมีบางชนิดยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ดังนี้
1. ผลกระทบต่อน้ำ
น้ำเสีย หมายถึง น้ำที่มีปริมาณแก๊สออกซิเจนอยู่น้อยกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร สาเหตุสำคัญที่ทำให้แก๊สออกซิเจนลดน้อยลง เนื่องจากการปล่อยน้ำที่ผ่านการใช้แล้วทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง โดยน้ำเหล่านี้จะมีสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในน้ำทำให้จุลินทรีย์เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว จุลินทรีย์บางชนิดอาศัยแก๊สออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ
ในการดำรงชีวิต ปริมาณแก๊สออกซิเจนในน้ำจึงลดลงทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำขาดแก๊สออกซิเจนและอาจตายในที่สุด ส่วนจุลินทรีย์บางชนิดซึ่งไม่ใช้แก๊สออกซิเจน จะย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ ก่อให้เกิดสารมีกลิ่นขึ้น ซึ่งสาเหตุของน้ำเสียเกิดจาก
1) สิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือน อาคารบ้านเรือน และแหล่งที่อยู่อาศัยต่าง ๆ จะปล่อยสิ่งปฏิกูลต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ที่อยู่ในสิ่งปฏิกูล เช่น ปล่อยกากอาหารที่เป็นสารอินทรีย์ และสารที่ใช้ซักฟอกทำความสะอาด น้ำทิ้งจากการทำความสะอาดชะล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ รวมทั้งสารจำพวกสารละลายผงซักฟอก ซึ่งมีฟอสเฟตเป็นสารประกอบและสารนี้จะช่วยในการเจริญเติบโตของพืช โดยเฉพาะพืชน้ำจะเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนปกคลุมผิวหน้าน้ำทำให้พืชน้ำไม่ได้รับแสงแดด แสงสว่างไม่สามารถส่องลงไปในน้ำได้ พืชที่ถูกบังแสงและอยู่ใต้น้ำจะสร้างอาหารไม่ได้ และตายในที่สุดขณะเดียวกัน แก๊สออกซิเจนก็ไม่สามารถหมุนเวียนในน้ำได้ สิ่งมีชีวิตในน้ำจะตายทำให้สารอินทรีย์ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์เพิ่มมากขึ้น ส่วนจุลินทรีย์จะย่อยสลายสารอินทรีย์จากกากอาหารมีผลทำให้ปริมาณของออกซิเจนในน้ำลดลงและทำให้น้ำเน่าเสีย
2) สิ่งปฏิกูลจากการอุตสาหกรรม สิ่งปฏิกูลของโรงงานอุตสาหกรรมเกิดจากน้ำทิ้ง ซึ่งเป็นน้ำที่ใช้ล้างสิ่งสกปรกของเครื่องจักรและพื้นโรงงานซึ่งจะมีผงซักฟอก สารเคมี และผลิตภัณฑ์บางประเภทปนออกมาด้วย เช่น โรงานผลิตสารเคมี โรงงานน้ำตาล โรงงานแป้งมัน โรงงานทำกระดาษ โรงงานสุรา เป็นต้น ดังนั้น โรงงานอุตสาหกรรม จึงต้องดำเนินการกับน้ำทิ้ง เพื่อควบคุมคุณภาพของน้ำทิ้งก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลอง เพราะ การปล่อยน้ำทิ้งลงแม่น้ำลำคลองก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1) อุณหภูมิของน้ำในแม่น้ำลำคลองสูงขึ้น ทำให้แก๊สออกซิเจนละลายน้ำได้น้อยลง สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ก็อาศัยอยู่ไม่ได้
(2) มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อคนและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ปนออกมาด้วย เช่น ตะกั่ว (Pb) แคดเมียม (Cd) และปรอท (Hg) เป็นต้น
โรงงานบางแห่งปล่อยสารเคมีอีกหลายชนิดออกมากับน้ำทิ้ง เช่น น้ำมัน แมงกานีส(Mn) อาร์ซีนิก (Ar) โครเมียม (Cr) ไซยาไนด์ และสังกะสี (Zn) เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้วนแต่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น โดยเฉพาะน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการอุตสาหกรรม ถ้าใช้น้ำมันกันโดยปราศจาก ความระมัดระวัง นอกจากจะสิ้นเปลืองน้ำมันแล้วยังทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การปล่อยให้น้ำมันรั่วไหล ขณะสูบถ่ายน้ำมันทั้งบนบกและในทะเล การเทมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วลงในน้ำ หรือการล้างทำความสะอาดโรงงานและเครื่องจักรกลแล้วปล่อยให้น้ำมันไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองหรือทะเลซึ่งจะทำให้น้ำมันไปคลุมผิวหน้าน้ำทำให้ออกซิเจนในอากาศไม่สามารถละลายลงไปในน้ำได้ ทำให้แสงแดดส่องลงไปไม่ได้ พืชน้ำไม่สามารถสร้างอาหารและเจริญเติบโตได้ ซึ่งมีผลต่อเนื่องทำให้สัตว์น้ำที่อาศัยพืชเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นอาหารตายไปด้วย
ตัวอย่างสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์

-ตะกั่ว (Pb) มาจาก โรงงานแบตเตอรี โรงงานทำสี เป็นพิษร้ายแรงต่อคนและสัตว์ ถ้ามีสารตะกั่ว ในกระแสเลือดเพียง 0.5 กรัมเท่านั้น จะทำให้ตายได้ ถ้ามีตะกั่วสะสมในร่างกาย จะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ไตเสื่อมคุณภาพ เป็นอันตรายต่อระบบประสาท มีอาการเซื่องซึมกระวนกระวาย หงุดหงิด ปวดศีรษะ ความจำเสื่อม อาจถึงเพ้อคลั่ง ชัก อัมพาต และเสียชีวิตได้
-แคดเมียม(Cd)มาจาก โรงงานถลุงโลหะ โรงงานทำปุ๋ย โรงงานชุบโลหะ เกิดโรคอิไต – อิไต ซึ่งมีอาการปวดอย่างรุนแรงทั่วร่างกาย และถ้าร่างกายสะสมแคดเมียมไว้ประมาณ 0.05 กรัมจะทำให้เสียชีวิตได้
-ปรอท (Hg)มาจากโรงงานผลิตยากำจัดศัตรูพืช โรงงานกระดาษ โรงงานปิโตรเคมีคอล เกิดโรคพิษปรอท(โรคมินามาตะ) เกิดขึ้นในระยะยาวมากกว่าที่จะแสดงอาการให้ปรากฏ โรคนี้เป็นอันตรายต่อระบบประสาท และระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนเพลียหมดแรง และถ้าร่างกายสะสมไว้ประมาณ 0.05 กรัม จะทำให้เสียชีวิตได้
ที่มา : สุพจน์ แสงมณี และชานนท์ มูลวรรณ.ชุดปฎิรูปการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3(ม.1-3). 2545. หน้า 346
3) สิ่งปฏิกูลจากการเกษตร ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี ยาปราบวัชพืชที่เกษตรกรใช้กันมากโดยทั่วไป ได้แก่ ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนอน ยาฆ่าไรและแมงแปดขา สารปราบเชื้อรา สารกำจัดเพลี้ยและแมลงปากดูด สารปราบสัตว์แทะและหนู ยาฆ่าหอยในน้ำ ยาฆ่าเชื้อรา ยาฆ่าหญ้า ยาคุมหญ้า สารเหล่านี้จะตกค้างในต้นพืช และตามผิวดินจากการใช้ จะถูกชะไปกับน้ำฝนและไหลลงสู่แหล่งน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะยาปราบศั¬ตรูพืชที่สลายตัวช้าจะเกิดการสะสม ในแหล่งน้ำมากขึ้น ซึ่งจะถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหาร จนเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้
สิ่งที่สะสมตกค้างอยู่ในน้ำมีหลายประเภท คือ สารทางกายภาพ สารทางชีวภาพ
สารทางเคมี ทำเกิดผลเสียต่อการใช้สอยแหล่งน้ำและให้โทษต่อมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม จึงควรกำจัดสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ออกจากน้ำ ก่อนปล่อยน้ำลงสู่แหล่งน้ำต่าง ๆ
ส่วนประกอบของสารที่อยู่ในน้ำ
ทางกายภาพ
- สารที่ลอยน้ำ เช่น เศษไม้ใบไม้
- สารที่แขวนลอยในน้ำ เช่น โคลนตม ดิน ชิ้นโลหะ เศษไม้ ยาง เยื่อกระดาษ
- ความร้อน เช่น น้ำร้อนจากหม้อต้มน้ำโรงงานอุตสาหกรรม
ทางชีวภาพ
- สิ่งที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เช่น แบคทีเรีย โพรโทซัว ไวรัส พาราไซด์ เชื้อรา
- พืชพวกสาหร่าย เช่น สาหร่าย และพืชน้ำต่าง ๆ
ทางเคมี
- สารอินทรีย์ เช่น น้ำมัน สีทาบ้าน สีย้อมผ้า ผงซักฟอก แป้ง น้ำตาล
- สารอนินทรีย์ เช่น กรด เบส คลอรีน เกลือของโลหะ ไนเตรต ฟอสเฟต ซัลเฟต ไบคาร์บอเนต
ที่มา : สุพจน์ แสงมณี และชานนท์ มูลวรรณ. ชุดปฎิรูปการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-3). 2545. หน้า 347
2. ผลกระทบต่อดิน ส่วนใหญ่จะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยการนำสารเคมีมาช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช และปุ๋ยเคมี สารเหล่านี้จะตกค้างอยู่ในผลผลิตต่าง ๆ หรือตกค้างในดินทำให้ดินเสื่อมคุณภาพไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก เมื่อเราเก็บพืชมากินซึ่งสารบางชนิดที่ยังตกค้างในพืชอยู่ทำให้ได้รับอันตรายได้ น้ำจากแหล่งเพาะปลูกเหล่านั้นไหลซึมลงสู่แม่น้ำลำคลองที่ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค ก็จะทำให้ได้รับสารพิษในทางอ้อมได้
3. ผลกระทบต่ออากาศ อากาศที่สะอาดและบริสุทธิ์ เป็นอากาศที่เหมาะสมต่อ การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด อากาศที่สะอาดทำให้เรามีสุขภาพที่ดี และไม่เป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ปริมาณของสารในอากาศที่มากที่สุด คือ ไนโตรเจน 78.09 % และรองลงมาคือ ออกซิเจน 20.94 % ซึ่งเป็นแก๊สที่เราใช้หายใจ ส่วนแก๊สที่เป็นพิษต่อร่างกาย และสิ่งแวดล้อมมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับแก๊สชนิดอื่น ๆ เช่น แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นแก๊สที่สามารถทำปฏิกิริยากับเมฆ (น้ำในอากาศ) จะทำให้เกิดฝนกรดตกลงมา ในอากาศ มีแก๊สชนิดนี้เพียง 0.00001 % จัดว่าเป็นปริมาณที่ปกติและปลอดภัยต่อการดำรงชีวิต แต่สภาพอากาศทุกวันนี้เปลี่ยนไป สังเกตได้จากเวลาฝนตกทำให้เกิดฝนกรด เพราะในปัจจุบันมีการปล่อยสารพิษออกมาสู่อากาศมากเกินไปเมื่อฝนตกลงมาสารเคมีที่ลอยอยู่ในอากาศจะทำปฏิกิริยากับน้ำทำให้สารที่เกิดขึ้นมีสภาพเป็นกรด สามารถกัดกร่อนโลหะได้ สารพิษดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น จมูก ปาก ผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งเมื่อร่างกายรับเข้าไปแล้วจะส่งผลกระทบต่อระบบหายใจ ระบบขับถ่าย และระบบทางเดินอาหาร ตลอดจนอาจจะแสดงอาการตอบสนองที่สังเกตได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นแผลพุพอง เลือดออก เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเพียงอาการเริ่มแรกเท่านั้น ถ้าร่างกายได้รับเข้าไปในปริมาณสูงมากก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ฉะนั้นผู้ใช้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และรู้วิธีป้องกันอันตรายจากสารพิษให้พ้นจากตัวเองและสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารดังกล่าว
ปริมาณของคาร์บอนมอนอกไซด์ที่มีผลต่อมนุษย์ ขึ้นกับเวลาที่ได้รับติดต่อกัน แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์จะเกิดอันตรายต่อชีวิตของเราถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากเรารับแก๊สชนิดนี้นานราว 4 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ปริมาณของแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ละลายอยู่ในกระแสเลือดถึงร้อยละ 75 ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงและลดการเกิดแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ลงด้วยการเลือกใช้เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานได้สมบูรณ์ การเผาไหม้ที่สมบูรณ์จะเกิด แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำเท่านั้น จะไม่เกิดแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ขึ้นมา
ส่วนประกอบของอากาศที่บริสุทธิ์ จะมีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนไม่มาก ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสง แต่ปัจจุบันแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในบรรยากาศตลอดเวลาจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะ
การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ นอกจากนี้การทำลายพื้นที่ป่าไม้ยังเป็นการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากขาดต้นไม้ที่จะช่วยดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ทำให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เหลืออยู่มากในบรรยากาศ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งมีผลทำให้
1) ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 0.8 องศาเซลเซียสต่อระยะ 10 ปี ทำให้น้ำแข็งในขั้วโลกเหนือละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น พื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง แต่ทะเลทรายเพิ่มขึ้น
2) ฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ในเขตเมืองหนาว ฤดูหนาวจะสั้นลง
ฝนตกมากขึ้น ฤดูร้อนจะยาวมากขึ้น อากาศจะร้อนและแห้งแล้ง ส่วนเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน บริเวณที่แห้งแล้งจะแห้งแล้งมากขึ้น ดินเสื่อมคุณภาพมากขึ้น บริเวณที่ชุ่มชื้นจะมีฝนมากขึ้น พายุรุนแรงและเกิดอุทกภัยบ่อยขึ้น
3) ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำเพิ่มขึ้น ปริมาณของน้ำทะเล ประกอบกับน้ำจากขั้วโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นสาเหตุของการพังทลายบริเวณชายฝั่ง ระบบชลประทาน และการระบายน้ำได้รับความเสียหาย เกิดการรุกล้ำของน้ำเค็มในผิวดิน แม่น้ำ พื้นที่ไร่นา ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านการเพาะปลูก และอุตสาหกรรมชายทะเล นอกจากนี้ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจทำให้บริเวณหาดทรายหรือเกาะต่าง ๆ จมหายไปใต้น้ำ เกิดภาวะน้ำท่วม ปัญหามลพิษทางน้ำ
4) ผลผลิตทางการเกษตรลดลงหรือต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เพราะสภาพดินฟ้า อากาศ และพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย ความเหมาะสมลดลง มีการระบาดของแมลงศัตรูพืชมากขึ้น เกิดความเสียหายทางการเกษตร อาหารจะขาดแคลน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม
5) สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ถูกทำลายไปจากโลก เป็นผลจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น จะเกิดความแห้งแล้ง ดินเค็ม น้ำท่วม ทำให้แหล่งกำเนิดและถิ่นที่อยู่อาศัยของพืช สัตว์ แมลง และ
จุลินทรีย์ถูกทำลายลงทุกที และบางชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากโลก
6) เนื่องจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยจะทำให้เป็นมะเร็งที่ผิวหนังมากขึ้น
จากตารางจะเห็นว่าส่วนประกอบของอากาศที่บริสุทธิ์ จะมีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนไม่มาก ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสง แต่ปัจจุบันแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในบรรยากาศตลอดเวลาจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะ
การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ นอกจากนี้การทำลายพื้นที่ป่าไม้ยังเป็นการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากขาดต้นไม้ที่จะช่วยดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ทำให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เหลืออยู่มากในบรรยากาศ

ดังนั้นเราจึงควรลดการปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการปลูกต้นไม้ ลดการเผาขยะมูลฝอย และลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ เพื่อลดอุณหภูมิของโลก สรุปได้ว่า สารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นสารเคมีทางการเกษตร สารเคมี
ในเชื้อเพลิง ยา สารทำความสะอาด เครื่องสำอาง เป็นต้น ทำให้เกิดสิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือน จากการอุตสาหกรรม จากการเกษตรกรรม สารเหล่านี้ถ้าสะสมในปริมาณมากจะทำให้เกิดน้ำเสีย ดินเสื่อมสภาพไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก อากาศมีสารพิษ ทำให้มนุษย์และสัตว์เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย จนทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนมากขึ้น จนมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพืช สัตว์ และมนุษย์ ฉะนั้นเราควรลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย หันมาใช้สมุนไพรกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยอินทรีย์ ปลูกผักปลอดสารพิษปลูกต้นไม้ ลดการใช้พลาสติก ลดการเผาขยะและเชื้อเพลิง เพื่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น: