วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตอนที่ 3.5 การใช้ฮอร์โมนกำจัดแมลงศัตรูพืช

การใช้ฮอร์โมนกำจัดแมลงศัตรูพืช ฮอร์โมนของแมลงบางชนิดทำให้แมลงศัตรูพืช
ไม่สามารถเจริญเติบโตจากตัวอ่อนไปเป็นตัวเต็มวัยได้
การใช้ฮอร์โมนกำจัดแมลงศัตรูพืชยังไม่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย แต่มีวิธีการกำจัดศัตรูพืชอีกวิธีหนึ่งที่มีการศึกษาค้นคว้า นั่นคือ การนำเซลล์ของแมลงมาช่วยกำจัดศัตรูพืช เซลล์ของแมลงมีส่วนช่วยกำจัดศัตรูพืช โดยการเพาะเลี้ยงเซลล์แมลงในอันดับ Lepidoptera เพื่อประโยชน์ในการผลิตเชื้อไวรัส NPV (Nuclear Polyhedrosis Virus) ควบคุมแมลงศัตรูพืช เนื่องจากไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอนุภาคขนาดเล็กและแตกต่างจากเซลล์สิ่งมีชีวิตอื่น คือไม่มีส่วนประกอบไมโตคอนเดรีย นิวเคลียส และส่วนประกอบอื่น ๆ ทั่วไปที่ควรจะมีของเซลล์สิ่งมีชีวิต ดังนั้นไวรัสจึงไม่สามารถขยายตัวหรือเพิ่มปริมาณออกไปเหมือนกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จึงทำให้ไม่สามารถผลิตขยายปริมาณไวรัสบนอาหารได้เหมือนเชื้อรา แบคทีเรีย หรือไส้เดือนฝอย โดยการเลี้ยงไวรัสทำได้ 2 วิธีการ คือ
1. การใช้แมลงอาศัยเพาะเลี้ยงโดยตรง
2. การนำเอาเซลล์เนื้อเยื่อของแมลงมาเพิ่มจำนวนในอาหารเลี้ยงเซลล์จนได้เซลล์ปริมาณมากแล้ว จึงทำการเพาะไวรัสลงในเซลล์หรือเนื้อเยื่อนั้น
การเพาะเลี้ยงเซลล์แมลงเพื่อผลิตไวรัส NPV จะสามารถลดต้นทุนและขั้นตอนการผลิตลงได้ สามารถควบคุมอัตราการผลิตได้ง่ายและคงที่ รวมทั้งไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอื่น ๆ ทำให้ประสิทธิภาพเชื้อแน่นอน
การเพาะเลี้ยงเซลล์แมลง ถ้าตั้งต้นจากระยะไข่ หรือหนอนวัย 1 จะทำให้ได้เซลล์หลายชนิดปนกัน เพราะเป็นการตั้งต้นเพาะเลี้ยงจากหลายอวัยวะรวมกัน แต่ถ้าตั้งต้นจากหนอนวัย 4 ดักแด้หรือผีเสื้อ จะสามารถแยกเอาเฉพาะส่วยของอวัยวะต่าง ๆ เช่น เซลล์ไขมัน ฐานปีกท่อหายใจ ลำไส้ ส่วนกลาง รังไข่ และอัณฐะ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ได้เซลล์ประเภทเดียวกัน
โดยทั่วไปเซลล์เพาะเลี้ยงของแมลงเป็นเซลล์ที่ได้จากเนื้อเยื่อ ซึ่งมีเซลล์หลายชนิดปนกันอยู่หลังจากเซลล์เริ่มแรก เจริญเป็นเซลล์ชั้นเดียว มีการย้ายเซลล์ไปยังอาหารใหม่จนเซลล์เจริญในอาหารเลี้ยงเซลล์ได้อย่างต่อเนื่อง การผลิตไวรัสด้วยเซลล์เพาะเลี้ยงต้องเลือกเซลล์ที่อ่อนแอต่อการทำลายของไวรัสเพื่อเพิ่มปริมาณของไวรัสได้มาก
ดังนั้น การใช้ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช ได้แก่ แมลงห้ำ แมลงเบียน รวมทั้งพวกจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และไส้เดือนฝอย จึงเป็นแนวทางในการลดปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชคือ การกำจัดศัตรูพืชในลักษณะผสมผสาน(Integrated Pest management, IPM) โดยการรวมเอาวิธีการควบคุมโดยชีววิธีและวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสม เข้าไว้ด้วยกันนี้เป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตรวมทั้งลดอันตรายที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม

ไม่มีความคิดเห็น: