วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การเขียนเค้าโครงของโครงงานวิทยาศาสตร์

การเขียนเค้าโครงของโครงงานเป็นการวางแผนการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อให้การดำเนินการทำกิจกรรมเป็นไปอย่างรัดกุมและรอบคอบ แล้วจึงลงมือทำโครงงาน เขียนรายงานโครงงาน และนำเสนอโครงงานซึ่งอาจแสดงผลงานในรูปของการจัดนิทรรศการ การอธิบายหรือรายงานปากเปล่า
เค้าโครงของโครงงานวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปมีองค์ประกอบต่อไปนี้
1. ชื่อโครงงาน อาจได้จากปัญหา คำถาม หรือความสนใจในเรื่องต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัว
2. ประเภทโครงงาน จะสอดคล้องกับชื่อเรื่องโครงงานว่าเป็นประเภทใด เช่น
2.1 โครงงานประเภทการทดลอง ได้แก่ มดดำไล่มดแดง
2.2 โครงงานประเภทการสำรวจ ได้แก่ การศึกษาปูลมบริเวณหาดตะโละกาโปร์ พฤติกรรมมดแดง(ศึกษาโครงสร้างภายนอกทั่วไปของมดและสังเกตลักษณะภายนอกของวรรณะทั้ง 4 คือ ราชินี มดงานเพศเมีย มดเพศผู้ มดงาน(ตอนที่ 1))
2.3 โครงงานประเภทการพัฒนาหรือการประดิษฐ์ ได้แก่ เครื่องสาวไหมไฟฟ้าแบบ 2 หัวสาว, กระสวยอัดอากาศ, จรวดขวดน้ำ
2.4 โครงงานประเภทการสร้างทฤษฎีหรือการอธิบาย ได้แก่ กำเนิด ของทวีปและมหาสมุทร
3. ชื่อผู้ทำโครงงาน ส่วนใหญ่โครงงาน 1 โครงงานจะมีสมาชิกจำนวน 3 คน
4. ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน ส่วนใหญ่เป็นครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ในชั้นนั้นๆ หรือครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ที่ให้คำปรึกษาแก่นักเรียน
5. ที่มาและความสำคัญของโครงงาน เป็นการอธิบายถึงเหตุผลที่เลือกทำโครงงานนี้ โครงงานเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างไร มีหลักการและทฤษฎีอะไรที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่ทำเป็นเรื่องใหม่หรือมีผู้อื่นได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องทำนองนี้ไว้บ้างแล้ว
ถ้ามีได้ผลเป็นอย่างไร เรื่องที่ทำนี้ได้ขยายเพิ่มเติมปรับปรุงจากเรื่องที่ผู้อื่นทำไว้อย่างไรหรือเป็นการทำซ้ำเพื่อตรวจสอบผล(กระทรวงศึกษาธิการ, 2544)
6. วัตถุประสงค์ เขียนให้ชัดเจนว่าโครงงานเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร
7. สมมติฐานและการกำหนดตัวแปรต่าง ๆ ส่วนใหญ่การตั้งสมมติฐานและ การกำหนดตัวแปรจะมีในโครงงานประเภทการทดลอง ซึ่งเป็นการตรวจสอบสมมติฐาน
8. วิธีดำเนินการ
8.1 วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ โครงงานวิทยาศาสตร์ทุกประเภทต้องกำหนดวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้มีอะไรบ้าง วัสดุอุปกรณ์เหล่านั้นมีอยู่ที่ใด วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้างที่ต้องจัดซื้อหรือยืมมาจากที่ต่างๆ อะไรบ้างต้องจัดทำเอง ซึ่งต้องกำหนดให้ชัดเจนเพื่อ ความสะดวกในการเก็บรวบรวมข้อมูล
8.2 แนวการศึกษาค้นคว้าและทดลอง อธิบายเกี่ยวกับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ออกแบบการทดลอง วิธีการสร้างสิ่งประดิษฐ์ การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล
9. แผนปฏิบัติการ เป็นการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมแต่ละขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นโครงงานตามขั้นตอนที่กำหนดไว้
10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ เขียนให้มีความหมายสอดคล้องกับหัวข้อวัตถุประสงค์ในการทำโครงงานเรื่องนี้
11. เอกสารอ้างอิง(บรรณานุกรม) ควรเขียนข้อความหรือเนื้อหาที่สืบค้นมาได้ไว้ให้ถูกต้อง และพิจารณาว่าเนื้อหาที่ได้สอดคล้องกับชื่อโครงงาน วัตถุประสงค์สมมติฐานและการกำหนดตัวแปรต่าง ๆ วิธีดำเนินการ และผลที่คาดว่าจะได้รับหรือไม่ พร้อมทั้งเขียนอ้างอิงไว้ให้ชัดเจน
การเขียนอ้างอิงมี 2 ลักษณะคือ การเขียนอ้างอิงในข้อความของเนื้อเรื่องและการเขียนเป็นรายงานเอกสารอ้างอิงซึ่งมักอยู่ส่วนท้ายของเอกสาร
11.1 การเขียนอ้างอิงในเนื้อเรื่อง นิยมอ้างอิงแบบ ชื่อ – ปี (ชื่อผู้แต่ง – ปีที่พิมพ์) โดยเขียนได้ 2 แบบคือ
1) อ้างไว้หน้าข้อความ เขียนดังนี้
ชื่อผู้แต่ง(ปีที่พิมพ์)......................ข้อความ.....................................
เช่น สุระ พัฒนเกียรติ(2545) แสดงความเห็นไว้ว่า การนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาใช้ในงานด้านต่าง ๆ นั้น ปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคลนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
2) อ้างไว้หลังข้อความ เขียนดังนี้
ข้อความ.....................................................................(ชื่อผู้แต่ง,ปีที่พิมพ์)
เช่น การนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาใช้ในงานด้านต่าง ๆ นั้น ปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคลนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง(สุระ พัฒนเกียรติ, 2545) ( อัจฉรา ธรรมถาวร, 2549)
11.2 การเขียนเป็นรายงานเอกสารอ้างอิง มักอยู่ส่วนท้ายของเอกสาร เช่น
1) เอกสารที่เป็นหนังสือหรือตำรา มีรูปแบบการเขียนดังนี้
ชื่อผู้แต่ง, ปีที่พิมพ์. ชื่อหนังสือ. ครั้งที่พิมพ์. สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์
2) ข้อความจากอินเตอร์เน็ต มีรูปแบบการเขียนดังนี้
ชื่อผู้แต่ง, ปีที่พิมพ์. ชื่อเรื่อง. (ชื่อแหล่งข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต). วัน เดือน ปี ที่ค้นข้อมูล.
( อัจฉรา ธรรมถาวร, 2549)
การเขียนเค้าโครงของโครงงานจึงเป็นการวางแผนการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้การดำเนินการทำกิจกรรมเป็นไปอย่างรัดกุมและรอบคอบ ซึ่งทำให้โครงงานวิทยาศาสตร์สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

“เด็กๆ นอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้วยังต้องหัดทำการงานและทำความดีด้วย เพราะการทำงานจะช่วยให้มีความสามารถ มีความขยันอดทนพึ่งตนเองได้ และการทำดีนั้นจะช่วยให้มีความสุขความเจริญทั้งป้องกันตนไว้ไม่ให้ตกต่ำ”(คำพ่อสอน. 2543)
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ประจำปี 2530

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุนค่ะ