วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้สารเคมี

ตอนที่ 2.1 ประเภทของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้สารเคมี คือ การฉีดยาหรือสารเคมี สารเคมีที่นิยมใช้ได้แก่ ดีดีที ดีลดริน แอลดริน มาลาไทออน ไบดริน ไอโซแลน คาบาริล ไฮคว๊อต พาราคว๊อต ฟอร์ฟาคว๊อต เป็นต้น
ประเภทของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ประเภทของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบ่งได้ 5 ประเภทตามลักษณะการใช้ ดังนี้
1. สารเคมีฆ่าแมลง ได้แก่ พาราไทออน โพเรท คาร์บาริล ไบกอน แอลดริน ดีดีที เป็นต้น
2. สารเคมีกำจัดวัชพืช ได้แก่ พาราคว๊อต คาลาปอน ซิเมโทน เป็นต้น
3. สารเคมีกำจัดเชื้อรา ได้แก่ ไซเนบ แคปแทน แลนเนต เป็นต้น
4. สารเคมีกำจัดสาหร่าย ได้แก่ คอปเปอร์ซัลเฟต เป็นต้น
5. สารเคมีกำจัดสัตว์แทะ ได้แก่ คาวมาริน ซิงค์ฟอสไฟด์ และแก๊สไซยาไนด์ เป็นต้น
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นสารเคมีที่นำมาใช้สำหรับฉีดพ่นตามส่วนต่าง ๆ ของพืช หรือใช้ผสมปนกับดิน เพื่อป้องกัน หรือกำจัดศัตรูพืชที่ทำให้พืชเสียหายหรือลดคุณภาพ ประเภทของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบ่งตามลักษณะการใช้ได้ 5 ประเภท คือ สารเคมีฆ่าแมลง สารเคมีกำจัดวัชพืช สารเคมีกำจัดเชื้อรา สารเคมีกำจัดสาหร่าย สารเคมีกำจัดสัตว์แทะ
สารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชปัจจุบันมีมากมายหลายชนิดแต่ละชนิดออกฤทธิ์แตกต่างกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างสารเคมีที่ใช้ปราบพาหะนำโรคและศัตรูพืชบางชนิด

1. สารประกอบคลอริเนตไฮโดรคาร์บอน เช่น ดีดีที ดีลดริน แอลดริน ประโยชน์ใช้ ฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืช พาหะนำโรคของมนุษย์ และสัตว์ การออกฤทธิ์หรือพิษต่อคน โดย กดศูนย์ควบคุม การหายใจที่สมอง ท้องร่วง ตับอักเสบ ระยะเวลาในการสลายตัว 2-5 ปี
2. สารประกอบออแกนโนฟอสเฟต เช่น พาราไทออน มาลาไทออน ไบดริน ประโยชน์ใช้ ฆ่าแมลงที่กัดและ ดูดน้ำเลี้ยง ฆ่าแมลงที่เป็นศัตรูมนุษย์และสัตว์ การออกฤทธิ์หรือพิษต่อคน โดยมีอาการ วิงเวียน ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ระยะเวลาในการสลายตัว 1-12 สัปดาห์
3. สารประกอบคาร์บาเมต เช่น ไอโซแลน คาบาริล ประโยชน์ใช้ กำจัดแมลงศัตรูพืช การออกฤทธิ์หรือพิษต่อคน โดยมีอาการ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง เหงื่อออกมาก ม่านตาหดหรี่เล็กลง ระยะเวลาในการสลายตัว 1-12 สัปดาห์
4. สารประกอบ
พาราคว๊อต เช่น ไฮคว๊อต พาราคว๊อต ฟอร์ฟาคว๊อต ประโยชน์ใช้ ฆ่าแมลงและวัชพืช การออกฤทธิ์หรือพิษต่อคน โดยมีอาการ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน ตัวเหลือง ผิวหนังอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจและ
ปอดไม่ทำงาน ระยะเวลาในการสลายตัว ไม่สลายตัว
ที่มา : นิพนธ์ ตังคณานุรักษ์. คู่มือเสริมศักยภาพกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ยากับชีวิต. 2546. หน้า 88
สารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชแบ่งตามการออกฤทธิ์ของสารเคมีแบ่งได้ 4 ประเภท คือ สารประกอบคลอริเนตไฮโดรคาร์บอน สารประกอบออแกนโนฟอสเฟต สารประกอบคาร์บาเมต สารประกอบพาราคว๊อต ซึ่งมีการออกฤทธิ์หรือพิษต่อคน และระยะเวลาในการสลายตัวแตกต่างกัน
ตอนที่ 2.2 หลักการใช้ ข้อควรระวังและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
การใช้การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีข้อควรระวัง และข้อปฏิบัติมีดังนี้
1. ก่อนใช้ต้องอ่านฉลากให้เข้าใจ
2. ในกรณีที่เป็นชนิดฉีดพ่น ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ละอองเข้าตา ปาก จมูกหรือผิวหนัง และเสื้อผ้า
3. ห้ามฉีดพ่นในห้องที่มีเด็กอ่อน ผู้ป่วย หรืออาหาร และขณะทำการฉีดพ่นให้
ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดพ่นออกจากบริเวณนั้น ๆ
4. ภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายเมื่อใช้หมดแล้ว ห้ามนำไปบรรจุสิ่งอื่นใดและห้ามนำไป
เผาไฟจะเกิดอันตราย และห้ามทิ้งลงในแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะ
5. หลังจากพ่นวัตถุอันตรายเสร็จแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง
6. ห้ามรับประทาน
สารเคมีสามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์และสัตว์ได้ 3 ทาง คือ ทางปาก จมูก และผิวหนัง ดังนั้นจึงควรใช้สารเคมีเหล่านี้อย่างระมัดระวัง ใช้ให้ถูกวิธีตามฉลากที่แนะนำไว้ และเกษตรกรควรเลือกสารเคมีชนิดเฉพาะเจาะจง และสลายตัวได้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความ-ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
การปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ได้ผลดี
การปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ได้ผลดีมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. อ่านฉลากอธิบาย ชนิด อัตรา วิธีการ และกำหนดการใช้อย่างละเอียด ตลอดจน ความเข้มข้นของสารเคมี และคำแนะนำตักเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดกับผู้ใช้และผู้เกี่ยวข้อง
2. ทดสอบเครื่องมือประกอบการใช้ให้ถูกต้อง
3. เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องตวง เครื่องฉีด ถังน้ำ ไว้ให้พร้อมและไม่มีสิ่งของเหล่านี้ปะปนกับกิจกรรมอื่น
4. ไม่ควรนำสารเคมีหรือสารอื่นมาใช้ โดยไม่มีรายละเอียดการใช้กำกับไว้
การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชกับพืชผักที่จะนำไปบริโภค ควรคำนึงถึงความปลอดภัย โดยทิ้งระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว ดังตัวอย่างต่อไปนี้

-พาราไทออน-เมทธิล อัตราการใช้ 20(กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ) ทดลองใช้กับผักคะน้า ระยะเวลาที่ควรทิ้งไว้ก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อความปลอดภัย 5 วัน
-ไดเมทโทเอท อัตราการใช้ 40(กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ) ทดลองใช้กับผักคะน้า ระยะเวลาที่ควรทิ้งไว้ก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อความปลอดภัย 7 วัน
-มาลาไทออน อัตราการใช้ 30(กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ) ทดลองใช้กับผักกวางตุ้ง ระยะเวลาที่ควรทิ้งไว้ก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อความปลอดภัย 5 วัน
-เมวินฟอส อัตราการใช้ 30(กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ) ทดลองใช้กับผักกวางตุ้ง ระยะเวลาที่ควรทิ้งไว้ก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อความปลอดภัย 1 วัน
-ไดเมโทเอท อัตราการใช้ 40(กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ) ทดลองใช้กับมะเขือเทศ ระยะเวลาที่ควรทิ้งไว้ก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อความปลอดภัย 7 วัน
-ไดอาซินอน อัตราการใช้ 30(กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ) ทดลองใช้กับมะเขือเทศ ระยะเวลาที่ควรทิ้งไว้ก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อความปลอดภัยมากกว่า 7 วัน
ที่มา : บุญสนอง พึ่งสุข. คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3(ม.1-3). 2547. หน้า 204
จากข้อมูลการค้นคว้าวิจัย ข้างต้นนี้ คงจะเป็นตัวอย่างว่า สารเคมีที่ใช้กับผักกวางตุ้ง และมะเขือเทศนั้นมีระยะปลอดภัยในการเก็บเกี่ยวมาบริโภคแตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะว่าสารเคมีเหล่านั้นมีการสลายตัวได้ช้าเร็วไม่เหมือนกันนั่นเอง เช่น พาราไทออน-เมทธิล เมื่อใช้กับผักคะน้าแล้วต้องทิ้งไว้ 5 วันจึงจะมีสารเคมีตกค้างอยู่ไม่เกินค่าปลอดภัย ซึ่งค่าปลอดภัยได้กำหนดไว้ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ( เป็นค่าที่ทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้กำหนดไว้ในปี พ.ศ. 2517) ค่าปลอดภัยของมาลาไทออนที่ใช้กับผักกวางตุ้ง 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เมวินฟอส 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไดอาซินอน 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นต้น
การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะยาที่จะต้องฉีดพ่น ควรใช้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะสารเคมีอาจเข้าสู่ร่างกายคนได้ทางผิวหนัง บาดแผล หรือโดยการหายใจ และการบริโภค สารเหล่านี้อาจไม่แสดงผลทันที แต่จะสะสมไว้ในร่างกายทีละเล็กละน้อยจนถึงปริมาณหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ถึงขั้นเสียชีวิตได้ คนแพ้พิษยาปราบศัตรูพืชจะมีอาการวิงเวียน หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก น้ำลายฟูมปาก หรือกล้ามเนื้อชักตุก อาการเหล่านี้จะเกิดมาหรือน้อยตามแต่ชนิดและปริมาณสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
แสดงปริมาณสารเคมีในยากำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
-พาราไธออน 6.3( mg/kg ของน้ำหนักร่างกาย )
-ดีดีที 200.0( mg/kg ของน้ำหนักร่างกาย )
-แคลเซียมอาซีเนต 10.0( mg/kg ของน้ำหนักร่างกาย )
-เอนดริน 24 % 5.0 ( mg/kg ของน้ำหนักร่างกาย )
-ไทรีทริน 30.0( mg/kg ของน้ำหนักร่างกาย )
-เลดอาร์ ซีเนต 30.0( mg/kg ของน้ำหนักร่างกาย )
ที่มา : ศิริรัตน์ วงศ์สิริ. คู่มือวิทยาศาสตร์ ว305-ว306 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. 2542. หน้า 302
ก่อนใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ควรศึกษาวิธีใช้ให้เข้าใจเสียก่อนและปฏิบัติตามคำแนะนำ ในขณะที่ใช้ควรหลีเลี่ยงการสูดดมโดยใช้ผ้าปิดจมูกก่อน ถ้าเป็นสารเคมีที่มีพิษแรง เช่น เอนดริน 24 เปอร์เซ็นต์ หรือพาราไทออนแล้วผู้ใช้ต้องเตรียมหน้ากากป้องกันพิษสารเคมี ถุงมือ เสื้อ และรองเท้าไว้เป็นพิเศษ ห้ามกินอาหาร ดื่มน้ำหรือสูบบุหรี่ขณะที่ฉีดพ่นสารเคมี
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นสารเคมีที่มีทั้งประโยชน์และโทษ ผู้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับสารเคมีนั้น ๆ ให้ถูกต้อง และคำนึงถึงข้อควรระวัง และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติหรือฉลากกำกับให้ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น: